top of page
รูปภาพนักเขียนBangmod Canal

ร เรือ วิถีชีวิตคู่ย่านคลอง

ในพื้นที่เขตจอมทอง  ราษฎร์บูรณะ ทุ่งครุ บางขุนเทียน คลองนับเป็นเส้นเลือดหลักที่หล่อเลี้ยงผู้คนมาช้านาน ทั้งการเป็นเส้นทางคมนาคม แหล่งน้ำหล่อเลี้ยงที่นาและสวน พื้นที่นิเวศพืชพรรณ และสรรพสัตว์ เส้นทางเชื่อมโยงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ และการจัดการน้ำในที่ราบลุ่ม เช่น คลองด่าน คลองสนามชัย คลองบางขุนเทียน คลองบางมด คลองตาโซะ คลองสะพานควาย คลองหัวกระบือ ฯลฯ อีกทั้งเป็นย่านที่มีผู้คนหลากวัฒนธรรมอาศัยร่วมกัน จนนำมาสู่วิถีชีวิต วัฒนธรรม และภูมิปัญญาที่สั่งสม และซุกซ่อนตามมุมต่าง ๆ ของสองฝั่งคลองบางมดและคลองซอยย่อยมาถึงทุกวันนี้

ภาพบรรยากาศการบิณฑบาตบริเวณแพตาปาดในช่วง 6.00 น. วันที่ 22 ธันวาคม 2564ถ่ายโดยคุณวิไลวรรณ ประทุมวงศ์


หนึ่งในภูมิปัญญาสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับย่านคลองนี้คือ “เรือ” ถ้าคนคลองไม่มีเรือ จะเข้าไปรดน้ำดูแลลิ้นจี่ มะม่วง กล้วย ส้มเขียวหวานบางมด ส้มโอ มะพร้าว ที่อยู่ตามท้องร่องได้อย่างไร แล้วถ้าไม่มีเรือ พืชผลจะออกสู่ท้องตลาดได้อย่างไร แล้วจะซื้อหาอาหาร เครื่องอุปโภคบริโภคที่ตลาดวัดไทรอย่างไร ผู้คนจะร่วมงานบุญประเพณีที่วัดราชโอรส วัดหนัง วัดบางประทุนนอก วัดยายร่ม วัดท่าข้าม มัสยิดดาริลหะซัน มัสยิดดารุลนาอีม อย่างไร ถ้าไม่มีเรือ โดยเฉพาะยุคที่ยังไม่มีถนนพระราม 2 ถนนวุฒากาศ ถนนเอกชัย ถนนประชาอุทิศ ถนนพุทธบูชา ฯลฯ

ภาพวิถีชีวิต หน้าร้านค้าริมคลอง (ร้านป้าแหม่ม) วันที่ 28 พฤศจิกายน 2564ถ่ายโดย คุณวิไลวรรณ ประทุมวงศ์



1.     รู้จักเรือ ในวิถีชีวิตคนกับแม่น้ำลำคลอง เครื่องมือหลักในการเดินทางย่อมไม่พ้นเรือ จึงควรที่จะเรียนรู้จักเรือประเภทต่าง ๆ ในย่านคลอง ซึ่งมีหลากหลายประเภทตามความจำเป็นและความเหมาะสมกับเส้นคลอง

 


1.1  เรือสองตอน - เรือกะเทย อัตลักษณ์ชาวบางมด

ภาพจากเพจ 3C Project


เรือสองตอน หรือเรือกะเทย หรือเรือสะเต๊ป เรืออัตลักษณ์ชาวบางมด ที่ชาวเรือบางมดได้สร้างสรรค์ขึ้นมา คือเรือทรงเหลี่ยมท้องแบนที่ต่อเป็นสองตอน ตอนหนึ่งท้องเรือจะติดพื้นน้ำ อีกตอนหนึ่งจะต่อให้ลอยพ้นพื้นน้ำ เพื่อลดแรงกระแทกของน้ำช่วยให้เรือวิ่งได้เร็วขึ้น นิยมใช้เป็นเรือแข่งขัน ซึ่งในอดีตชาวบางมดก็เคยส่งเรือไปแข่งขันทั้งที่บ้านแพ้ว จอมทอง เป็นต้น ปัจจุบันมีสนามแข่งประจำที่วัดวัดหัวกระบือ เขตบางขุนเทียน อย่างไรก็ตาม เรือประเภทนี้มีเสียงเครื่องยนต์ที่ดังจนรบกวนผู้อาศัยริมคลองจำนวนมาก เจ้าของเรือบางรายถึงกับแต่งเครื่องให้เสียงดัง เพื่อประกาศศักดานักแข่งเรือ จึงเป็นเรื่องที่ถกเถียงของชาวคลองเรือป๊าบ เรือสามัญประจำคลอง



1.1  เรือป๊าบ หรือเรืออีป๊าบ

เรือป๊าบเข้าร่องสวนส้มบางมด ภาพโดยนายสมจิตร จุลมานะ


ใช้ขนของและเดินทางไกลข้ามจังหวัดได้ เรือประเภทนี้ทรงเรือเรียวหัวท้าย ป่องกลาง ท้องเรือแบน ยาวประมาณ 6 เมตรเศษ (3 วา) ขึ้นไป ความกว้างประมาณ 2 เมตร ความลึกท้องเรืออยู่ประมาณ 1 เมตร สามารถบรรทุกสิ่งของในน้ำหนักที่ใกล้เคียงรถบรรทุก 10 ล้อ หรือ 6 ล้อ ลดหลั่นตามขนาดของเรือ คนย่านคลองด่าน คลองสนามชัย คลองบางขุนเทียน คลองบางมด คลองหัวกระบือ คลองสะพานควาย ฯลฯ จึงนิยมใช้เรือชนิดนี้บรรทุกพืชผลจากสวนของตนไปขายที่ย่านตลาดใหญ่ ๆ ริมคลอง เช่น วัดไทร ตลาดพลู ปากคลองตลาด สี่แยกมหานาค บางปะแก้ว พระประแดง ฯลฯ และยังสามารถล่องรับสินค้าจากย่านตลาดใหญ่ ๆ เหล่านี้กลับมาขายที่บางมดได้อีกด้วย



1.3  เรือแปะ เรือเล็กคล่องตัวแห่งร่องสวน

ลักษณะคล้ายเรือป๊าบ แต่มีขนาดเล็กกว่า ความยาว 8 ศอก (4 เมตร) ใช้ล่องเรือในร่องสวน เพื่อบำรุงปุ๋ยยาและรดน้ำพืชผล จากขนาดเรือถือว่าเล็กเหมาะแก่การพายเลี้ยวตามร่องสวน ในอดีตมักต่อด้วยไม้ ปัจจุบันเริ่มมีเรือแปะที่ต่อด้วยไฟเบอร์ ขนาดเดียวกับเมื่ออดีต โดยบางลำจะเจาะกลางเรือให้สามารถสูบน้ำขึ้นมารดน้ำต้นไม้ที่ปลูกบนคันดินร่องสวนได้ จึงเรียกอีกอย่างว่า “เรือรดน้ำ”


 

1.4  เรือสำปั้น พี่ใหญ่ลำคลอง

ภาพจากเพจ 3C Project


เรือสำปั้น คือเรือต่อไม้กระดานสามแผ่นเสริมกราบ มีหลายขนาด ถ้าเรือรูปทรงเดียวกันแต่เป็นเรือที่ขุดจากไม้ทั้งต้น จะเรียกว่า “เรือมาด” ไว้เดินทางไกลและขนส่งตามแม่น้ำลำคลองที่ไม่ลึกมากได้

 


1.5  เรือหางยาว

เรือหางยาวบรรทุกส้ม ภาพภ่ายจากนายสมจิตร จุลมานะ

 


คือเรือลักษณะต่าง ๆ  ตามที่กล่าวข้างต้น หากว่าติดเครื่องยนต์เรือและติดใบพลัดกับเพลายาว เพื่อเพิ่มกำลังในการเร่งความเร็ว และกำลังในการรับน้ำหนัก เรือหางยาวขนาดใหญ่สามารถบรรทุกส้มได้ถึง 1.8 ตัน และบรรทุกกิ่งส้มได้ 2,100 กิ่ง สามารถขนส่งค้าขายได้ นอกจากนี้ ยังใช้เรือในการรับส่งคนเดินทางในชีวิตประจำวัน งานประเพณีทั้งพุทธ มุสลิม งานศาลเจ้าจีน ฯลฯ

 


1.6 เรือบด น้องจิ๋วเครื่องฝึกสมาธิ

ภาพจากเพจ ภาพในอดีตหายาก โปรดแชร์ให้ลูกหลานดู https://web.facebook.com/share/p/kpLKJ9hiyVZQ2tMd/

 

เรือบด หรือเรือเข็ม เป็นเรือเล็ก ๆ รูปร่างเพรียว หัวท้ายเรียว แล่นได้เร็ว นั่งได้เพียงคนเดียว ใช้ได้ทั้งพาย และกรรเชียง มักใช้เป็นเรือบิณฑบาตของพระภิกษุสงฆ์ ในอดีตประมาณก่อน พ.ศ. 2520 ทุกเช้าพระภิกษุจากวัดยายร่ม วัดพุทธบูชา วัดหลวงพ่อโอภาสี วัดบัวผัน วัดทุ่งครุ วัดราชโอรส วัดท่าข้าม วัดหนัง วัดบางขุนเทียนกลาง ฯลฯ จะได้พายเรือบด หรือเรือเข็ม และเรือสำปั้นเพรียว ออกบิณฑบาตจากชาวบ้านริมคลอง ทั้งนี้เนื่องจากเรือเหล่านี้มีรูปแบบที่เพรียวทรงตัวยาก หากทรงตัวไม่ดีเรือจะพลิกคว่ำได้ง่าย ๆ เรือประเภทนี้จึงเป็นเครื่องมือฝึกสติและสมาธิของพระภิกษุเป็นอย่างดี

 

 

2.     ภูมิปัญญา


2.1  ต่อเรือ

นอกจากการใช้เรือแล้ว สิ่งที่ชาวบ้านคลองต้องมีความรู้การสร้างและซ่อมเรือพอประมาณ ในการต่อเรือ สิ่งสำคัญอันดับแรกคือ “กระดูกงู” หมายความโครงหลักที่วางตลอดหัวเรือถึงท้ายเรือ เป็นแกนของเรือ เมื่อวางกระดูกงูแล้วก็ต้องตั้ง “กง” บนกระดูก ระหว่างกงจะมี “มือลิง” คือไม้สำหรับติดข้างเรืออยู่ในระหว่างกง หรือต่อจากกงนิยมใช้ไม้เรือ สัก เต็ง แดง เพราะเนื้อไม้หนาแน่น ทนต่อความชื้น

ทั้งนี้การสร้างเรือมีได้ 2 วิธีหลักๆ ได้แก่ การต่อเรือโดยใช้โครงประกอบกับแผ่นไม้กระดาน อีกวิธีคือ การขุดเรือจากท่อนไม้ โดยใช้ขวาน มีด จอบ เสียม เป็นต้น มีวิธีการสังเกตประเภทเรือ ถ้าเป็นเรือต่อ มีไม้กระดาน ไม้ยึด ถ้าเป็นเรือขุดท้องจะโค้ง ในย่านแม่น้ำลำคลองใกล้เคียง จะมีอู่ต่อเรือที่นิยมเช่น ดาวรุ่ง คลองจินดา (สามพราน) รุ่งโรจน์ วิวัฒน์ชัย เป็นต้น แต่ละเจ้ามีลายของตนที่เขียนสีประดับเรือเอาไว้ สมัยก่อนซื้อเรือต่อจาก “อู่เรือเกียรติชาย” พระโขนง ต้องเอาเรือไปออกคลองบางปะแก้ว ผ่านประตูน้ำคลองดาวคะนองไปเข้าคลองพระโขนง “วิ่งผ่านคลองแสนแสบ สมัยก่อนลำบากมาก” อู่วิชัย อู่วิชิต ต้องมาจากแถวนั้น บางมดแถวนี้ก็มีอู่ศิริโชค อู่มิตรอำนวย อู่หนองสิน อู่พะเยาสิน “สู้เขาไม่ได้” เพราะเขาใช้ควงทองเหลือง ควงที่ยิงไปในไม้ หัวควงมันจะไม่ผุ จะคงสภาพอย่างงั้นอยู่กับไม้ ถ้าเป็นควงเหล็กจะขึ้นสนิม ปัจจุบันในย่านคลองบางมดก็มีอู่เรือของ “ตาอี๊” แต่มักจะต่อเรือแข่งเป็นหลัก

 


2.2  ตอกหมันชันยา

เรือทั้งที่เกิดจากกระดานต่อ จะมีรอยต่อ หรือแม้แต่เรือขุดที่อาจมีรอยปริของไม้บ้าง อย่างไรเสียจะต้องอุดรอยเหล่านี้ด้วยการชันยา และตอกหมัน เริ่มจากการตอกหมัน คือการเอา “หมัน” ซึ่งเป็นเปลือกไม้ชนิดหนึ่งมาทุบผสมกับน้ำมันยาง แล้วจึงใช้สิ่วอุดหมันผสมน้ำมันยางตามรอยต่าง ๆ จากนั้นจึง “ยาเรือ” ทับรอยหมัน โดยต้องเตรียมวัสดุที่จะใช้ยา คือ ปูนแดงแบบที่กินกับหมาก น้ำมันยาง และด้ายดิบ เอามาใส่กะลาคนให้เหนียวเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วจึงทาที่รอยรั่วของเรือที่ลงหมันไว้ก่อนแล้ว สุดท้ายจึงใช้ “ชัน” คือ ยางไม้ชนิดหนึ่ง ทาทับรอยยาเดิม

 


3.     เครื่องยนต์เรือ

เมื่อโลกได้มีพัฒนาการทางเทคโนโลยีจนเกิดเครื่องยนต์ขึ้น ก็ได้มีคนไทยหลายรายที่ได้ผู้ประยุกต์เครื่องยนต์รถมาใช้กับเรือตั้งแต่ประมาณปี 2480 – 2490 เศษ โดยเครื่องยนต์ดีเซลซึ่งมีกำลังมากสำหรับเรือใหญ่ ถ้าเป็นเรือขนาดเล็กหรือขนาดกลาง จะใช้เครื่องยนต์เบนซิน ซึ่งจะเพิ่มความเร็วและกำลังในการบรรทุกคนหรือสินค้า เมื่อเรือติดเครื่องยนต์ มักมีคำเรียกเรือตามชื่อเครื่องยนต์ เช่น เรืออีซูซุ เรือหางยาวอีซูซุ เรือหางยาวฮอนด้า เรือป๊าบสองสูบ เป็นต้น นอกจากความสะดวกสบายแล้ว การติดเครื่องยนต์เรือยังเป็นเครื่องแสดงฐานะของเจ้าของเรือในยุคนั้นอีกด้วย เพราะเป็นการสะท้อนรายได้จากการทำสวนที่มีมากขึ้น

ในย่านคลองบางมดเครื่องยนต์เรือเป็นที่นิยมตั้งแต่ราว พ.ศ. 2510 จึงจะมีเรือเครื่องในคลองบางมด พอดีกับยุคเฟื่องฟูของสวนส้มบางมด ซึ่งเครื่องเรือเหล่านี้ที่ได้ก่อให้เกิดคลื่นขนาดใหญ่และคลื่นกระแทกแรง จากคำบอกเล่าชุมชน เมื่อคลื่นซัดฝั่งมาจนเซาะตลิ่ง แนวลำประโดงเก่า ตลิ่งพังทำให้คลองกว้างขึ้น คลองบางมดเป็นคลองหลัก “ทุก ๆ คน จะต้องแล่นผ่านไปทำสวน” คนทำสวนต้องวิ่งผ่าน คือ คลองหน้าวัดพุทธบูชา ไปผ่านมัสยิด ผ่านไปทางแถววัดบัวผัน คลองรางแม่น้ำ “ตลิ่งพังออกไป เสียหายมาก จนคลองกว้างขึ้น” จนกระทั่งไปออกคลองรางยายเพียร “ใครทำสวนก็ขุดคลองไป” คลองซอยจะไม่กว้าง เพราะเหมือนกับเป็นคลองส่วนบุคคลดึงน้ำเข้าสวน

 


4.     เส้นทางเรือ

ย่านคลองต่าง ๆ ย่อมไม่อาจจะแบ่งแยกเป็นเอกเทศ ผู้คนย่อมเชื่อมโยงไปมาหาสู่ เอาแรงงานสวน จับจ่ายใช้สอย ซื้อขายแลกเปลี่ยน ช่วยงานประเพณี บุกเบิกที่ดินใหม่จากย่านเก่าแก่ ดังนั้นเส้นทางเรือจึงย่อมมีความสำคัญที่สะท้อนวิถีชีวิต

 


4.1  เส้นทางส้ม

ตัวอย่างแรกคือเส้นทางส้มจากบางมดไปขายตามเส้นทางต่าง ๆ จากบางมดไปตลาดมหานาค วิ่งได้ 3 เส้นทาง เส้นทางแรก คลองสี่พระยาออกบางปะแก้ว ล่องแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นไปสี่พระยา เส้นทางที่สอง คลองบางหลวง เส้นทางเรือขนส่งส้มไปปากคลองตลาด เรือจะเล่นผ่านวัดพุทธบูชา ออกไปทางตลาดวัดไทร ตลาดวัดราชโอรส ตลาดภาษีเจริญ ออกคลองบางหลวงที่ตลาดพลู (ตลาดใหญ่วัดกลาง) แล้วออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่วัดอรุณ ข้ามฟากไปปากคลองตลาดได้ เส้นทางที่สามคล้ายเส้นทางที่สอง แต่แล่นเรือต่อไปจากคลองบางหลวงเข้าคลองชักพระ คลองบางกอกน้อย อาจไปทางคลองย่านบางอ้อ แล้วไปปากคลองเทเวศร์

เส้นทางที่เรือวิ่งผ่านไป มีเรือรับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ เรือโดยสาร “ขับเรือไม่ใช่ง่ายนะ มีคลื่นตลอด เรือเราก็หนักปริ่มน้ำเลย ก็ขับสู้กันไป” มีเคยขับชนบ้านเรือนชาวบ้าน ถ้วย จาน ชาม หล่นลงคลอง นอกจากนี้ “ขับเรือต้องรู้ระดับน้ำด้วย” ระดับน้ำแค่ไหนที่เรือจะขับเข้าไปได้ เข้าไปแล้วเรือไม่ติดสะพาน เข้าแล้วไปได้ตลอด สังเกตระดับน้ำ

เรือชนกันล่มในคลอง สมัยก่อนเรืออีซูซุขนส่งส้มไม่เคยชนกับใคร “ได้แต่น้ำท่วม ส้มลอยเฉย” ในคลองเรือเยอะ เรือชาวบ้าน เรือลำเล็ก ๆ มีชนกันบ้าง ล่มเองบ้าง “คลื่นมันแรง” คือ ถ้าไปสวนสาย ๆ สู้คลื่นเรืออีซูซุไม่ได้ “เขาขับแบบโอ้โห สมัยนั้นนะ ยิ่งตรงไหนมีเขื่อนปูน ยิ่งอันตราย” เรือไม่มีเบรก ไม่เหมือนรถ ขับติด ๆ กันไป ถ้าเกิดเรือข้างหน้าดับ ก็ต้องชนเครื่องบ้าง “แล้วยิ่งถ้าไปคนเดียวด้วยยิ่งแล้วเลย ถ้าไป 2 คน บางคนเขาก็จับไม้พายให้ ชะลอ ๆ ไป” ส่วนใหญ่จะเป็นเรือเล็กที่ล่ม

นอกจากนี้ ยังมีเส้นทางไปส่งท่าส้มเก่า คลองสะพานควาย โดยล่องเรือจากคลองรางราชพฤกษ์ - บางมด ผ่านคลองสะพานควายขึ้นท่าส้ม (ตรงข้ามมัสยิดอัลอิสติกอมะห์) ซึ่งสามารถล่องเรือไปเชื่อมคลองขุดเจ้าเมือง ไปพระประแดงได้

 


4.2  เรือขายของ

เรือขายส้มตำของป้าวรรณดีบริเวรณหน้าเซฟติสท์ฟาร์ม วันที่ 18 มีนาคม 2566ถ่ายโดย คุณวิไลวรรณ ประทุมวงศ์

 

การค้าขายทางเรือ เป็นอีกกิจกรรมในอดีตที่ทำให้ย่านคลองมีความเคลื่อนไหว ชุมชนริมคลองมีเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ยายไป่ บ้านอยู่แถวแพยายดะห์ (พิกัดคลองรางราชพฤกษ์) พายเรือขายขนมจีน แกงปลาดุก ลอดช่อง ข้าวเหนียวถั่วดำ “ถ้าวันไหนแกขายไม่ดี จะบอกให้ไปเอาถ้วยใหญ่ ๆ มาใส่ ตาจก ร้านอยู่ฝั่งบางขุนเทียนขายไอติมปั่นกะทิ (อยู่ตรงข้ามสวนลุงสุทิน เอี่ยมศาสตร์ ในปัจจุบัน) ยายติ๋ม ขายก๋วยเตี๋ยวหมู ยายปิ่น ขายข้าวเหนียวมะม่วง เป็นญาติกับยายไป่ ตาเป้า ขายผัก แต่ก่อนใช้เรือจ้าง ต่อมาติดเครื่องยนต์ มาขายตอนเย็น ผักสดน่ากิน อย่างอื่น มีเต้าทึ้ง มีขนมเบื้อง ปัจจุบันเป็นรุ่นลูกขึ้นตลาดบก นอกจากนี้ มีก๋วยเตี๋ยว เป็ดพะโล้ (เป็ดน้อย) แถววัดใหม่บัวผัน เรือกับข้าวมีอยู่ลำเดียว “ชื่อตารัตน์ ลูกยายมาก” เป็นเรือขายกับข้าว “ใครเรียกทันก็ทัน ถ้าไม่ทันก็ไม่ได้กินนะวันนั้น” ซื้อของใช้ สมัยตอนอยู่แถววัดใหม่บัวผัน “ไปจ่ายตลาดครุใน” วิ่งจากคลองวัดใหม่บัวผัน เลี้ยวเข้าคลองค้างคาว จอดเรือครุนอก นั่งรถสองแถวไปตลาดครุใน ซื้อปุ๋ย-ยาใช้ในสวน ส่วนใหญ่ซื้อแพตาเสรี ร้านยู่เล้ง ร้านครูสงบ (ร้านอยู่ใกล้โรงเรียนบางมดตันเปาว์)

 


5.     แพตายืน พิพิธภัณฑ์เรือมีชีวิตแห่งย่านคลอง

แพตายืน หรือร้านค้าเสรีโชค โกดังเก็บเรือกว่า300ลำ แพนี้ตั้งอยู่ริมคลองบางมดฝั่งตรงข้ามกับมัสยิดดาริลหะซัน หรือมัสยิดสอนสมบูรณ์ ตายืนผู้นี้เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน มีถิ่นกำเนิดแถบวัดทุ่งโพธิ์ทอง ต่อมาได้พากันสามพี่น้อง ตาไฉ่ ตาชอ ตายืน ทำมาหากิน ทำสวน จนเปิดร้านค้าริมน้ำคลองบางมด ที่นิยมเรียกกันว่า "แพตายืน" (ไม่ได้เป็นเรือนแพลอยน้ำ แต่เป็นเรือนแถวที่มีชานยื่นในน้ำ) ค้าขายทั้งของชำ เครื่องยนต์เรือ ปุ๋ยยา และเครื่องมือเกษตร ในยุคที่สวนส้มเฟื่องฟู ประมาณช่วงปี พ.ศ.2500เป็นต้นมา จนเมื่อสวนส้มโรยราประมาณ พ.ศ.2534กิจการจึงซบเซา แต่ก็ยังอยู่ได้ถึงทุกวันนี้ ในร้านยังคงมีสินค้าเก่าแก่สภาพดี สะท้อนวิถีชีวิตชาวคลอง เช่น เครื่องยนต์เรือรุ่นต่าง ๆ (หลัง พ.ศ.2500เป็นต้นมา) ตะกร้อเก็บผลไม้ มีดฟันหญ้าในสวน เป็นต้น ในอีกด้านตายืนเป็นผู้ที่รักเรือเป็นชีวิตจิตใจชอบที่จะซื้อสะสมเรือ จนปัจจุบันนี้ทำธุรกิจซื้อขายเรือเป็นที่รู้จักของคนย่านแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ ไปจนถึงสามพราน อัมพวา ไม่ต้องนับคนย่านคลองฝั่งธนบุรี

คลังเรือร้านเสรียนต์ (ตายืน) คลองบางมด ภาพจากเพจ 3C Project

 

ในเมื่อคุณตายืนทำธุรกิจซื้อมาขายไปกับเรือ หากไปทางรถก็จะต้องมีการถนอมเรือไม่ให้กระแทกจนไม้แตก โดยจะมีกระสอบรองไม่ให้เรือกระแทกคานเหล็กรถกระบะ เมื่อขนลงจะใช้ยางรถยนต์รับเรือ และเมื่อจะลากเรือจากรถกระบะเข้าโรงเก็บ ก็จะใช้ท่อพีวีซีหลายลำรองใต้ท้องเรือเหมือนล้อเลื่อน แล้วเข็นเรือไป นี่เป็นความฉลาดรู้ของคนท้องถิ่นที่ฉลาดสังเกตไม้เรือ ท่อ สายยาง พื้นปูน เป็นต้น

 


6.     พายเรือสืบตำนานคลอง

จากเรื่องราวทั้งหมดได้บอกเล่าเรื่องราวให้เห็นว่า เรือเคยมีบทบาทต่อวิถีชีวิต จนมาเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมคนคลอง รวมทั้งเป็นสิ่งที่แฝงไว้ซึ่งภูมิปัญญา แต่ในปัจจุบันเรือได้ลดบทบาทลง เพราะมีถนนและรถยนต์ซึ่งทำให้การเดินทางเร็วกว่าในอดีต อย่างไรก็ตาม การเดินทางทางเรือ ยังมีเสน่ห์และมีความสวยงามด้านทัศนียภาพ จึงยังคงมีกิจการท่องเที่ยวทางเรือ และบริการเช่าเรือพายในพื้นที่เขตจอมทอง ทุ่งครุ และบางขุนเทียน ดังจะยกตัวอย่างกิจการต่อไปนี้

 

บริการเรือท่องเที่ยว สมคิดการท่องเที่ยว มีสำนักงานด้านคลองดาวคะนอง ใช้เรือด่วนขนาดเล็กให้บริการรับนักท่องเที่ยว พาเที่ยวย่านคลองด่าน คลองสนามชัย คลองบางขุนเทียน ผ่านสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ เช่น วัดราชโอรส วัดหนัง วัดนางนอง วัดบางขุนเทียนนอก วัดบางขุนเทียนใน วัดไทร สวนภูมิใจการ์เด้น บางประทุน เป็นต้น รวมทั้งเส้นทางนอกเขตจอมทอง เช่น คลองบางหลวง วัดปากน้ำภาษีเจริญ ตลาดพลู ฯลฯ

 

เรือตาหลิม เป็นชาวสวนมะพร้าวบางประทุน มีเรือหางยาวบริการนักท่องเที่ยว พาเที่ยวย่านเขตจอมทอง รวมทั้งคลองซอยที่เรือขนาดเล็กของตาหลิมจะขับเข้าไปได้ เช่น คลองบางประทุน คลองบางหว้า เป็นต้น

 

เรือไฟฟ้าท่องเที่ยวคุณมงคล เกียรติกาญจนสกุล หรือพี่ใต้ จอดเรือประจำที่คลองบางขุนเทียน เขตจอมทอง หน้าสวนภูมิใจการ์เด้น พี่ใต้ได้ดัดแปลงเรือเครื่องยนต์เป็นเรือไฟฟ้า เพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อม บริการเรือท่องเที่ยวตามย่านคลองต่าง ๆ เป็นเรือขนาด 10 ที่นั่ง รับนักท่องเที่ยวไปตามย่านคลองและแม่น้ำเจ้าพระยา

 

บ้านเขียนวาดและภาพพิมพ์ ตั้งริมคลองบางมดด้านแขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน เป็นกิจการบ้าน Workshop งานศิลปะ กิจการเรือท่องเที่ยว ซึ่งมีทั้งเรือขนาด 8 ที่นั่ง 14 ที่นั่ง และ 20 ที่นั่ง บริการท่องเที่ยวตามย่านคลองทั้งคลองบางมด คลองรางแม่น้ำ คลองด่าน คลองบางขุนเทียน คลองบางหลวง ฯลฯ นอกจากนี้ ยังเปิดบริการเช่าเรือคายัคและซัพบอร์ด สำหรับนักท่องเที่ยวได้เช่าพายเรือเที่ยวคลองบางมด คลองรางราชพฤกษ์ คลองค้างคาว คลองรางโพธิ์ คลองรางแม่น้ำ คลองรางแค เป็นต้น

 

กัมปงในดงปรือ เป็นกิจการท่องเที่ยวและการเกษตร โดยวิสาหกิจชุมชนดารุลอิบาดะห์ ตั้งอยู่ริมคลองรางราชพฤกษ์น้อย แขวงบางมด เขตทุ่งครุ มีเรือท่องเที่ยวคอกแพะ สวนมะพร้าว วัด มัสยิด สวนส้ม บ่อปลา ฯลฯ ในย่านคลองรางราชพฤกษ์ (คลองบ่อยาว) คลองบางมด คลองค้างคาว คลองรางแม่น้ำ ฯลฯ

 

บ้านสวน 33 ตั้งริมคลองรางโพธิ์บน แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน ให้บริการเช่าเรือคายัคและซัพบอร์ด สำหรับนักท่องเที่ยวได้เช่าพายเรือเที่ยวคลองบางมด คลองรางราชพฤกษ์ คลองค้างคาว คลองรางโพธิ์ คลองรางแม่น้ำ คลองรางแค เป็นต้น

 

เซฟติสท์ฟาร์ม สวนเกษตรสวนในพื้นที่ เพื่อการพึ่งพาตนเองด้านอาหาร ซึ่งได้พัฒนามาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และพื้นที่เรียนรู้ริมคลองรางแม่น้ำ (คลองบางมด) ใกล้ศาลเจ้าแม่ทับนาง แขวงบางมด เขตทุ่งครุ ดำเนินการโดยคณะ 3C Project และ Can Do Team ซึ่งเคยดำเนินกิจกรรมพัฒนาย่านบางมด - ทุ่งครุมาก่อน ในปัจจุบันมีกิจกรรมเรียนรู้หลากหลายสำหรับครอบครัวและเยาวชน เช่น การปลูกผัก ผลิตน้ำยาต่าง ๆ การทำอาหารและขนม รวมทั้งบริการพายเรือคายัคในบ่อ

 



เรียบเรียงข้อมูลโดย

นายนิยม วันใหม่

วันที่ 2 กรกฎาคม 2567

 


อ้างอิง

- สัมภาษณ์ นายสนธยา เสมทัพพระ 3 สิงหาคม 2562

- สัมภาษณ์นายพิชัย แสงอรุณ 3 มิถุนายน 2565

- สัมภาษณ์ นายสมัคร ยีบิน 3 มิถุนายน 2565

- สัมภาษณ์ นายสมเกียรติ เกิดเปลี่ยน 25 กรกฏาคม 2565

- สัมภาษณ์ นางสาวซ่อนกลิ่น ใบตานี 28 กรกฏาคม 2565

- สัมภาษณ์ พระครูโสภิตบุญญาทร เจ้าวาสวัดยายร่ม 7 ตุลาคม 2565

- สัมภาษณ์ นางทิพวรรณ  อุภยะพัทธ์กูร (ป้าหน่อย) 7 ตุลาคม 2565

- สัมภาษณ์ นายวันชัย  ทับทิม 28 ตุลาคม 2565

- สัมภาษณ์ นายสมทบ พรหมมาศ 19 ธันวาคม 2565

ดู 27 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page