top of page
logo.001.png
  • 3C Project
  • 3CProject Bangkok

บางมด เมืองแห่งการเรียนรู้




เขตทุ่งครุ-บางขุนเทียนอยู่ในเขตธนบุรีตะวันตกเฉียงใต้ เริ่มต้นจากตลาดคลองวัดไทรถึงศาลเจ้าแม่ทับนาง มีคลองบางมดเป็นคลองหลัก มีระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร ครอบคลุม 3 เขตพื้นที่ ได้แก่ จอมทอง ทุ่งครุและบางขุนเทียน


ชุมชนคลองบางมดมีความหลากหลายด้านเชื้อชาติ วัฒนธรรม และวิถีชีวิต ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมมลายู (ชุมชนนูรูลฮูดา ดารุล-อิบาดะห์ และดาริลฮาซัน) ชาวไทยและชาวมอญ (ชุมชนวัดยายร่ม วัดท่าข้าม วัดบัวผัน และวัดพุทธบูชา) ชาวไทย-จีน (ชุมชนเจ้าแม่ทับทิม) จึงมีเสน่ห์ตรงความเชื่อมโยงระหว่าง คน ถนน และคลอง ความหลากหลายเหล่านี้สามารถสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ได้หลายมิติ แต่ยังมีข้อจำกัดด้านการเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ เพราะเข้าถึงยาก ไม่มีรถสาธารณะผ่าน จึงต้องใช้เรือในการเชื่อมโยงการเรียนรู้ ทำให้ต้องคำนึงถึงการออกแบบจุดลงเรือในพื้นที่เพื่อเพิ่มการเข้าถึง และปรับปรุงการออกแบบให้มีความเหมาะสมกับการเรียนรู้ (ชิดชญา เดชเฉลิมวงศ์, 2566)


พื้นที่บริเวณนี้มีศักยภาพที่จะพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ในชุมชนได้ หากร่วมคิดและออกแบบการเรียนรู้ร่วมกัน แต่ยังขาดกลไกสร้างความร่วมมือในพื้นที่ การพัฒนาพื้นที่แหล่งเรียนรู้ในชุมชน ควรให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาเป็นหลัก โดยมีหลักการ 6 หลักการร่วม คือ ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจร่วมทำ ร่วมรับประโยชน์ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมประเมินผล ซึ่งยอมรับโดยทั่วไปว่าถ้าสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมเช่นนี้ได้จะนำไปสู่ความยั่งยืน (วิสันต์ พยุงวงษ์ และ ธัญญธร ศรีวิเชียร, 2560)

 

การสร้างพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ของเด็ก แบ่งพื้นที่การเรียนรู้ได้เป็น 3 พื้นที่หลักๆ คือ

1.       พื้นที่เพื่อการเรียนรู้ในวิถีชีวิตประจำวัน เป็นการส่งเสริมให้เด็กรู้จักพึ่งพาตนเองและสามารถลงมือทำได้ในกิจวัตรประจำวัน

2.       พื้นที่เพื่อการเรียนรู้ในห้องเรียน ออกแบบห้องเรียนให้เป็นบ้านใช้พื้นที่ในการเล่นและใช้ชีวิตร่วมกันผ่านกิจกรรมต่างๆ สภาพแวดล้อมที่สามารถเชื่อมโยงธรรมชาติ มีมุมการเรียนรู้ต่างๆ ที่หลากหลาย

3.       พื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียน เป็นพื้นที่อิสระ กิจกรรมมีความท้าทายทางด้านร่างกายและจิตใจ และใช้ธรรมชาติเป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อกล่อมเกลาจิตใจให้อ่อนโยนและผ่อนคลายได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 และมีการบูรณาการร่วมกับการเรียนรู้วิชาอื่น เพื่อเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ (อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ, 2564)


ปัจจุบันนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษายังขาดทักษะชีวิตในการจัดการกับปัญหาต่างๆ อยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการสื่อสาร ความสามารถมารถในการคิด ความสามารถในการแก้ปัญหา ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิตและความสามารถในการใช้เทคโนโลยี ดังนั้นการเสริมสร้างทักษะชีวิตจึงมีความจำเป็นสำหรับเด็ก เพราะทักษะชีวิต เป็นความสามารถในการนำกระบวนการต่างๆ ไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การทำงาน การอยู่ร่วมกันในสังคม ด้วยการสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคล การจัดการปัญหา และความขัดแย้งต่างๆ อย่างเหมาะสม รวมไปถึงการปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสภาพแวดล้อม การรู้จักหลีกเลี่ยงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ที่ส่งผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่น (เอกพจน์ สืบญาติ, 2561) โดยความสำคัญในการส่งเสริมทักษะชีวิตในวัยเด็ก เพราะเป็นช่วงวัยของการเจริญเติบโตและมีพัฒนาการในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านร่างกายและจิตใจอย่างรวดเร็ว เป็นช่วงของการเปลี่ยนจากวัยเด็กเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ มีอิสระทางความคิด มีความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการ ชอบลองสิ่งใหม่ๆ และชอบความท้าทาย ได้ลองผิดลองถูก ให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ เชื่อมความสัมพันธ์กับเพื่อนวัยเดียวกัน และการเสริมสร้างทักษะทางด้านสังคม (มูลนิธิยุวพัฒน์, 2563)


การวิจัยนี้จึงพัฒนาโมเดลเมืองแห่งการคิดและออกแบบอย่างมีส่วนร่วมในเขตทุ่งครุและบางขุนเทียนขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจและวิเคราะห์พื้นที่การเรียนรู้ร่วม (Co-Learning Space) ในเขตทุ่งครุ สร้างพื้นที่ต้นแบบและกระบวนการเรียนรู้ และสร้างเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกพื้นที่ โดยใช้ภาวะการนำร่วม เพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้ร่วม (Co-Learning Space) ร่วมกัน เน้นการมีส่วนร่วมของทุกหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อการพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืน ทำให้เขตทุ่งครุและบางขุนเทียนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับคนทุกวัยได้อย่างยั่งยืน

1 view0 comments

Comments


bottom of page